ใครไม่ตึง ใบตองตึง

สายลม ลอยมาปะทะกับผิวกายรับรู้ได้ถึงความเย็นที่แผ่ซ่านไปทั้งตัว บรรยากาศที่ปกคลุมไปด้วยเมฆหมอก เสียงพูดคุยเจี๊ยวจ๊าวกับเสียงใบไม้ดังกร๊อบแกร๊บเป็นสัญญาณให้รู้ว่า เด็ก ๆ โรงเรียนสาธิตชุมชนสมเด็จย่า กำลังเก็บใบตองตึงกันอย่างแข็งขัน

สายลม ลอยมาปะทะกับผิวกายรับรู้ได้ถึงความเย็นที่แผ่ซ่านไปทั้งตัว บรรยากาศที่ปกคลุมไปด้วยเมฆหมอก เสียงพูดคุยเจี๊ยวจ๊าวกับเสียงใบไม้ดังกร๊อบแกร๊บเป็นสัญญาณให้รู้ว่า เด็ก ๆ โรงเรียนสาธิตชุมชนสมเด็จย่า กำลังเก็บใบตองตึงกันอย่างแข็งขัน

ทำไมต้อง “โรงเรียนสาธิตชุมชนสมเด็จย่า”

โรงเรียนสาธิตชุมชนสมเด็จย่า วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว แม่แจ่ม เป็นโรงเรียนสาธิตชาติพันธุ์แห่งแรกในประเทศไทยตั้งอยู่ที่บ้านสันเกี๋ยง ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของโรงเรียนจาก 108 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าที่เต็มไปด้วยต้นตองตึง เมื่อถึงฤดูผลัดใบตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนใบตองตึงจะร่วงเยอะมาก ประกอบกับพื้นที่รอบ ๆ โรงเรียนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมจึงทำให้เกิดไฟไหม้ป่าหรือไฟป่าบ่อยครั้ง และเมื่อปี 2563 ในขณะที่เด็ก ๆ กำลังนั่งเรียนหนังสือกันอยู่ต้องรีบลุกขึ้นไปช่วยกันดับไฟป่าถึง 3 ครั้ง

ในอดีตเรื่องการผลัดใบของตองตึงไม่เป็นปัญหาหรือข้อกังวลเกี่ยวกับไฟป่าเลย เพราะชาวบ้านมักจะมาเก็บใบตองตึงเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการทำหลังคาบ้านหรือใช้ห่ออาหาร แต่ปัจจุบันเริ่มใช้ใบตองตึงน้อยลงทำให้เหลือใบตองตึงในพื้นที่ป่าจำนวนมากจึงง่ายต่อการเกิดไฟป่ามากขึ้น ทางโรงเรียนสาธิตชุมชนสมเด็จย่าจึงได้คิดหาแนวทางในการนำใบตองตึงมาใช้ประโยขน์และลดปัญหาการเกิดเชื้อเพลิงดังกล่าวด้วยการนำมาทำ “จานใบตองตึง”


แล้ว“ตองตึง” คืออะไร

ต้นตองตึงหรือยางพลวง เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 20-30 เมตรพบมากในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นไม้หลักในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าแดง ลำต้นจะนำไปใช้ในการทำเสาบ้านและคานหลังคา ส่วนใบมีความกว้าง 15-30 เซนติเมตร ยาว 15-40 เซนติเมตร ก้านใบแข็งแรง ใบอ่อนจะมีสีน้ำตาลแกมแดงถึงสีเขียว ใบแก่จะเป็นสีน้ำตาลและเริ่มผลัดใบในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงเมษายน ซึ่งจะเป็นช่วงเดือนที่ร้อนมากใบจะแห้งและกรอบเร็ว แต่ตอนเช้าๆ หมอกและไอน้ำจะช่วยให้ใบตองตึงที่แห้งอ่อนตัวและสามารถนำไปใช้งานต่อได้

ตอนเช้าๆ ประมาณ 06.00 น.-08.00น. จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมในการฝ่าฟันความง่วงเข้าป่าเพื่อไปเก็บใบตองตึง


“ใบตองตึง” ใช้ทำอะไรได้บ้าง

ด้วยลักษณะใบที่กว้างและแข็งแรง จึงมีการนำใบตองตึงมาใช้ประโยชน์มากมาย

1) ใช้ห่ออาหาร เช่น ข้าว น้ำตาลปี๊บ ถั่วเน่า และอาหารแห้งอื่นๆ

2) ใช้ทำหลังคา เพราะใบตองตึงมี คุณสมบัติทำให้บ้านเย็นและเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย คนในสมัยก่อนจึงนิยมนำมาทำหลังคาบ้านกัน โดยหลังคาใบตองตึง 1 ไพ ยาว 1.8 เมตร มีราคา 10-15 บาท และอยู่ได้นาน 3-5 ปี

3) ทำจานใบตองตึง โรงเรียนสาธิตชุมชนสมเด็จย่าใช้เวลาผลิตอาทิตย์ละ 2 ครั้งสามารถผลิตได้ 1,700 ใบ และนำมาใช้แทนพลาสติกในงานโรงเรียน งานวัดของชุมชน


แล้ว“จานใบตองตึง” ทำยังไง

หลังจากเข้าป่าไปเก็บใบตองตึงที่เป็นใบกว้าง ผิวเรียบ ไม่เป็นรู ไม่แห้งมากหรือกรอบเกินไป
มาเรียบร้อย ถึงเวลาขึ้นรูปจานเพื่อเอาไว้ใช้งาน

เริ่มจากทำความสะอาดใบ โดยนำผ้าแห้งหรือเปียกหมาด ๆ มาเช็ดใบทั้งด้านหน้าและด้านหลังเพื่อเอาฝุ่นและดินออก

 

 

จากนั้นใช้แปรงทากาว (แป้งข้าวเหนียวผสมน้ำแบบเหลว ไม่ข้นมาก) ทาใบตองตึงที่อยู่ด้านล่างแล้ววางอีกใบซ้อนทับด้านบนโดยสลับลายกัน

 

 

แล้วนำไปขึ้นรูปด้วยการปรับอุณหภูมิเครื่องปั๊มเป็น 150 องศา ตั้งเวลาไว้ 1.30 วินาที ปรับแม่พิมพ์ลงมาด้านล่างวางใบตองตึงลงบนแม่พิมพ์แล้วโยกคันโยกให้แม่พิมพ์ขึ้นไปบนสุด รอจนครบเวลา แล้วคลายน็อตเพื่อให้แม่พิมพ์ลงมา

 

จากนั้นนำจานออกจากแม่พิมพ์ แล้วใช้กรรไกรตัดขอบตามแบบจานให้สวยงาม (เป็นอันเสร็จสมบูรณ์)

กรณีจานแตกหรือไม่ได้ตามต้องการให้ทากาวซ้ำ นำใบใหม่มาซ้อนและขึ้นรูปใหม่เหมือนเดิม

 

แม้ว่าในปัจจุบันผู้คนจะหันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากวัสดุจากธรรมชาติอย่างจานใบตองตึง จานกาบหมาก หรือวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น แต่มันก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือโฟมลดน้อยลง ถึงแม้ว่าวัสดุธรรมชาติจะปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่ด้วยราคาที่สูงกว่าและความสะดวกสบายของการใช้งานผู้คนยังคงเลือกใช้วัสดุเดิม
การทำจานใบไม้ของโรงเรียนสาธิตชุมชนสมเด็จย่าจึงเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ผลิตจานออกมาพร้อมกับความเชื่อและแนวคิดที่ว่าสักวันหนึ่ง

“จานใบไม้จะเปลี่ยนโลกได้”