เกี่ยวกับเรา

Previous slide
Next slide

เครือข่ายพื้นที่ดีจัง

เด็กและเยาวชนเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ แต่สภาพแวดล้อมในปัจจุบัน กลับเต็มไปด้วยความเสี่ยงและพิษภัย แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) จึงกำหนดแผนรณรงค์ “พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน” เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมตระหนักในปัญหา ช่วยขจัดและควบคุมสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษต่อเด็ก ร่วมมือร่วมใจกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดพื้นที่ดีและกิจกรรมสร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน อย่างจริงจัง กว้างขวาง

เครือข่ายพื้นที่นี้ดีจัง คือการรวมกลุ่มกันของคนที่พบว่าเด็กเยาวชนขาดพื้นที่สร้างสรรค์ ขาดกิจกรรมสาธารณะ และพื้นที่การมีส่วนร่วม ขาดพื้นที่และโอกาสที่จะได้ค้นพบตนเอง ได้ร่วมออกแบบ คิด ตัดสินใจร่วมกับคนอื่น ๆ ในชุมชน ในทางกลับกัน มีพื้นที่เสี่ยง และกิจกรรมไม่สร้างสรรค์ ที่เน้นการบริโภคฟุ้งเฟ้อ อบายมุข สิ่งผิดกฎหมาย ฯลฯ เข้าถึงได้อย่างรวดเร็วกระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในชุมชน ในสังคม

จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว เครือข่ายพื้นที่นี้ดีจังได้ทำงานเพื่อออกแบบ พัฒนา สร้างสรรค์จนเกิดพื้นที่ที่เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่เรียนรู้ Learning Space สำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัวและชุมชน ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นพื้นที่ที่มีทั้งพื้นที่ทางกายภาพที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ มีกระบวนการที่ถูกออกแบบ ทำซ้ำ จนค้นพบว่าเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ ที่มีความหลายหลายทั้งวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ การผสมผสานระหว่างศิลปะชุมชนกับศิลปะสมัยใหม่ ทั้งบางพื้นที่ยังกลายเป็นกระบวนการใหม่ที่สร้างการเรียนรู้ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางศาสนา ชาติพันธุ์ หรือมุมมองต่อการต่อสู้ของชุมชน เป็นต้น โดยมีต้นทุน 11 ปี พื้นที่นี้ดีจัง จำนวน 17 กลุ่ม

แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) และ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ให้ความหมาย “พื้นที่สร้างสรรค์ว่า” เป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์ สร้างโอกาสให้เด็กได้เติบโตพัฒนาตามวัย มุ่งตอบสนองความต้องการของเด็ก ครอบครัว ชุมชน

โครงการรณรงค์พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน “พื้นที่นี้…ดีจัง” ได้นิยามพื้นที่สร้างสรรค์จากการประชุมระดมสมองของภาคีเครือข่ายร่วมกันว่า “เล่น เรียนรู้ ริเริ่ม ร่วมทำ แบ่งปัน”


พื้นที่ทางกายภาพ

พื้นที่สำหรับเล่นและทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งบ้าน โรงเรียน และชุมชน ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย เด็ก ๆ ทำกิจกรรมได้ตามวัยอย่างอิสระและสร้างสรรค์


พื้นที่ทางความคิด

เปิดเวทีให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออก แสดงความสามารถ มีสวนในการตัดสินใจ จัดกระบวนการ จัดกิจกรรมของตนเอง สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก ส่งเสริมให้ค้นพบศักยภาพและคุณค่าของตนเอง


พื้นที่ทางสื่อ

สื่อนับเป็นบริบททางสังคมที่เป็นสาธารณะ ทุกคนสามารถรับและเข้าถึงได้ สื่อสาธารณะทุกประเภทจึงควรมีหน้าที่แบ่งปันพื้นที่ให้กับเด็กอย่างพอเพียง


พื้นที่ทางสังคม

เปิดโอกาสให้เด็กมีสิทธิ มีส่วนร่วมในการแบ่งปัน จัดสรรทรัพยากรในสังคม มีส่วนกำหนดทิศทางในการบริการหรือสวัสดิการสำหรับเด็ก


ด้วยหวังว่า “พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน” ที่ครอบคลุมแนวคิดกิจกรรม ทั้งมิติด้านกายภาพ ความคิด สื่อ และสังคม ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเด็กและเยาวชนเป็นผู้นำ ผู้ใหญ่เป็นฝ่ายหนุน จะผลิบานสร้างสรรค์ สร้างสุข ทุกวัย ทุกพื้นที่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้น่าอยู่ สู่การมีสุขภาวะที่ดีและยั่งยืนของเด็ก เยาวชน ครอบครัว และชุมชนต่อไป