กลุ่มเยาวชนปี่อ้อ ซอ กลอง ท่วงทำนองสืบสานสะพานฝัน

กลุ่มเยาวชนปี่อ้อ ซอ กลอง เป็นการรวมตัวกันของเด็ก ๆ ของบ้านแสลงพันธ์ ต.สำโรง อ.เมือง ฯ จ.สุรินทร์ ที่ใช้เสียงเพลงกันตรึมเป็นตัวเชื่อมประสาน ระหว่างเยาวชนกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อใช้เวลาว่างในการอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิม และค้นหาความชอบของตัวเองผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ใต้ถุนบ้าน

โจ๊ะ! พรึม! พรึม! กันตรึม โจ๊ะ! พรึม! พรึม!

            สำเนียงเสียงเพลงกันตรึมดังมาจากบ้านยกใต้ถุนสูง มีผู้เล่นเป็นกลุ่มเยาวชนในท้องถิ่น รุ่นพี่ประคับประคองรุ่นน้อง ร่วมกันเล่นซอกลาง กระจับ กลอง ประสานเสียงด้วยตัวโน้ตแห่งความอบอุ่น โดยมีคุณป้า น้า อา จากบ้านใกล้เรือนเคียงเป็นผู้สดับตรับฟัง บ้างก็ลุกขึ้นมาร่ายรำด้วยความสนุกสนาน บ้างก็ขยับตัวตามจังหวะเพลงอย่างสำราญใจ

นี่คือภาพปกติที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำในบริเวณชุมชนบ้านแสลงพันธ์ ต.สำโรง อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์         ดินแดนชาติพันธุ์เขมรซึ่งฟูมฟักศิลปินรุ่นจิ๋วของท้องถิ่น ให้ได้มีพื้นที่สำหรับแสดงความสามารถด้านดนตรีอย่างเต็มที่ ดังคำกล่าวที่ว่า

            “รกเราถูกฝังอยู่ที่นี่”

        ชานนท์ ภู่สูง หรือ ‘ช้าง’ เป็นผู้กล่าวคำนี้ เขาเป็นผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มเยาวชนปี่อ้อ ซอ กลอง’ ขึ้นมาในฐานะนักตอบแทนชุมชน

       ช้าง เคยออกจากชุมชนไปแสวงหาชีวิตบนเส้นทางแห่งความฝัน เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวคนอื่น โดยทำงานเป็นวิทยากรด้านกระบวนการ อีกทั้งยังเก็บเกี่ยววิชาด้านศิลปะดนตรีกันตรึมติดตัวไปด้วย เขาจึงต้องเดินทางไปทั่วประเทศ รวมถึงต่างประเทศ และมีโอกาสได้พบเจอผู้คนมากมาย

            “ระหว่างทำงานอยู่ต่างจังหวัด มีอยู่ช่วงหนึ่งรู้สึกอยากกลับบ้าน เราจึงกลับบ้านเลยทันที” ช้างกล่าว

            ขณะกลับบ้าน ช้างพบว่า บ้านของเขาช่างเงียบเหงา มีเพียงคนชรากับเด็กตัวเล็ก ๆ มองไปรอบตัว เห็นเพียงหมู่บ้านที่เซื่องซึม

 

         แต่เรื่องน่าเศร้าใจไปมากกว่านั้นคือ ชุมชนเปลี่ยนไป ภาพของเด็กที่มักออกไปวิ่งเล่นตามทุ่งนา ใส่เบ็ด จับปลา ตามลุ่มน้ำลำคลองแทบไม่มีให้เห็น ช้างรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ชุมชนที่เขาคุ้นเคย มันเปลี่ยนแปลงไปเร็วจนน่าใจหาย

         ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ในสมัยที่ช้างยังเป็นเด็ก เขาจำได้ว่าหมู่บ้านของเขาเคยคึกคักว่านี้ อาจเป็นเพราะที่นี่คือชุมชนของนักดนตรีโดยสายเลือด เกือบทุกบ้านจึงเต็มไปด้วยศิลปินท้องถิ่น มีหมอตำแย มีการเรือมมะม๊วต มีประเพณีแซนโฎนตา ซึ่งมากด้วยขนมคาวหวานที่แสนอร่อยและเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมดั้งเดิม เขาจำได้ว่ามีเสียงกันตรึมดังมาเป็นระยะ และดังไกลไปถึงทุ่งนานอกหมู่บ้าน 

            “บ้านเรามีคนเล่นกันตรึมเยอะ แต่ทุกวันนี้คนเฒ่าคนแก่ที่เคยเล่นแทบไม่เหลือแล้ว หมอตำแยก็หมดไป หมอจับเส้น หมอพื้นบ้านก็เหลือรุ่นสุดท้ายไม่กี่คน พอไปถามเด็กรุ่นหลัง เขาแทบไม่เชื่อว่าหมู่บ้านเราจะมีอะไรแบบนั้นอยู่จริง บางครอบครัวลูกหลานของเขาก็ไม่ได้สืบสานต่อ เราจึงคิดรวบรวมศิลปะและวัฒนธรรม เหล่านี้ไว้เท่าที่เราสามารถเรียนรู้ได้ เพื่อถ่ายทอดให้ผู้คนรู้จัก ให้ลูกหลานได้ภูมิใจ เหมือนที่เราภูมิใจ” 

 

            ช้างอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงรากเหง้าวัฒนธรรม ประเพณี วิถี ความเชื่อของชาติพันธุ์ตัวเอง ก่อนที่ทุกอย่างจะถูกลืมเลือนเป็นเพียงความทรงจำอันพร่ามัวเท่านั้น

            สังเกตดูตัวเอง ช้างมีความรู้ด้านกันตรึมติดตัวมา ผนวกกับเคยมีประสบการณ์ด้านกระบวนการมาไม่น้อย จึงนำความสามารถดังกล่าวมาประยุกต์สอนให้เด็ก ๆ ในท้องถิ่น จนก่อเกิดเป็น “กลุ่มเยาวชนปี่อ้อ ซอ กลอง” ในเวลาต่อมา

             กลุ่มเยาวชนปี่อ้อ ซอ กลอง ใช้เสียงเพลงกันตรึมเป็นตัวเชื่อมประสาน ระหว่างเยาวชนกับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างงดงาม ซึ่งเด็กทุกคนล้วนให้ความสนใจดนตรีพื้นบ้านเป็นอย่างดี และมากกว่าที่ช้างคาดหวังด้วยซ้ำ เพราะเด็กกับการเล่นเป็นสิ่งคู่กัน

            แม้ว่าในช่วงแรก ช้างจะถูกคนในชุมชนมองว่าใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์ส่วนตัว แต่นั่นอาจเป็นเพราะพวกเขายังไม่เข้าใจ ช้างจึงพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นถึงความตั้งใจอันดีของเขา ด้วยการทุ่มเทแรงกายแรงใจไปกับการสอนกันตรึมให้เด็ก ๆ โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน กระทั่งเวลาผ่านไปหลายปี เมื่อชาวบ้านเห็นในสิ่งที่ช้างทำ พวกเขาจึงเริ่มเปิดใจรับฟังมากขึ้น และส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะชาวชุมชนเล็งเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวบุตรหลานของตนด้วยว่า อย่างน้อยพวกเขาก็ได้มีพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อแสดงความสามารถ ดีกว่าใช้เวลาช่วงวันหยุดหมดไปกับการเก็บตัวเล่นมือถือ ที่ไม่ได้เน้นการเรียนรู้ให้กับเด็กเท่าที่ควร 

       “เราทำกลุ่มเป็นเหมือนสะพานให้เด็กได้เดินไปหาฝันตัวเอง บางคนมาแล้วก็ไป แต่บางคนมาแล้วได้ค้นพบตัวเองก็มี . . . เราเห็นคนรุ่นใหม่หันมาสนใจด้านนี้กันเยอะ เราเห็นเด็กแต่งตัวนุ่งผ้าไหมพื้นถิ่น ไปเดินตลาดโดยไม่อายใคร  เด็กบางคนบอกกับเราว่าอยากเป็นสัปเหร่อ เหมือนว่าพวกเขาได้พบตัวเองมากขึ้น เราจึงไม่อยากให้ภูมิปัญญาชุมชนตรงนี้หายไป อย่างน้อยให้เหลือแค่เรื่องเล่าก็ยังดี . . .หากสุดท้ายไม่เหลืออะไรเลยจริง ๆ ”

            ปัจจุบันกลุ่มเยาวชนปี่อ้อ ซอ กลอง ยังคงทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมฝันให้กับเยาวชนในท้องถิ่นอย่างไม่ลดละ และมีเยาวชนสนใจเข้ามาร่วมกลุ่มไม่ต่ำกว่า 5 รุ่นแล้ว           

            ในฐานะครูและผู้ก่อตั้งกลุ่ม ช้างรู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่ได้ทำหน้าที่เป็นสะพานฝันให้กับเยาวชนจากรุ่นสู่รุ่น เขาได้เห็นรุ่นพี่สอนกันตรึมให้รุ่นน้อง มีพ่อ-แม่ ผู้ปกครองของเด็ก ๆ ปั่นจักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์ เข้ามาส่งเด็ก ๆ ให้เรียนดนตรี พร้อมกับมีส่วนร่วมในการร่ายรำเป็นท่วงท่าเฉพาะตัว ที่เด็ก ๆ มีโอกาสเรียนรู้และออกแบบท่ารำด้วยตัวเอง ซึ่งหาดูชมที่ไหนไม่ได้อีก นี่นับเป็นเสน่ห์ของชุมชนอย่างแท้จริง และทรงคุณค่าสำหรับช้างเป็นอย่างมาก นึกถึงขึ้นมาทีไร เขาก็อดน้ำตาไหลไม่ได้

            “สุดท้ายไม่มีใครหนีแผ่นดินเกิดได้ เราทุกคนต้องกลับมายังจุดฝังรกของตัวเอง เพราะรกของเราถูกฝังอยู่ที่นี่…แค่เราได้ตอบแทนแผ่นดินเกิด แค่นี้ก็ภูมิใจมาก ๆ แล้ว”

เมื่อกล่าวจบ เสียงเพลงกันตรึมก็แว่วดังมาอีกครั้ง มันเริ่มต้นได้อย่างสนุกสนาน และจบลงด้วยเสียงหัวเราะ   เช่นเดิม เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา.

ผู้เขียน: ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด

ภาพ : ฐิติชญา ชัยชาติ